chiangmai mit

รถประเภทใดที่ต้องทำประกันภัย พ.ร.บ.
1. รถที่ต้องทำประกันภัยตาม พ.ร.บ. ได้แก่รถทุกชนิดทุกประเภทตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ กฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก กฎหมายว่าด้วยรถยนต์ทหาร ที่เจ้าของมีไว้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ ไม่ว่ารถดังกล่าวจะเดินด้วยกำลังเครื่องยนต์ กำลังไฟฟ้า หรือพลังงานอื่น เช่น รถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถสามล้อเครื่อง รถยนต์โดยสาร รถบรรทุก หัวรถลากจูง รถพ่วง รถบดถนน รถอีแต๋น ฯลฯ
2. ดังนั้น การที่มีรถบางประเภท กรมการขนส่งทางบกไม่รับจดทะเบียน แต่หากเข้าข่ายว่ารถนั้นเดินด้วยกำลังเครื่องยนต์ กำลังไฟฟ้า หรือพลังงานอื่นแล้วก็จัดเป็นรถที่ต้องทำประกันภัยตาม พ.ร.บ.
---------------------------------------------------------------------------------------------------------
รถประเภทใดที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องทำประกันภัย พ.ร.บ.
1. รถสำหรับเฉพาะองค์พระมหากษัตริย์ พระรัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
2. รถของสำนักพระราชวังที่จดทะเบียน และมีเครื่องหมายตามระเบียบที่เลขาธิการพระราชวังกำหนด
3. รถของกระทรวง ทบวง กรม และส่วนราชการต่าง ๆ รถยนต์ทหาร
4. รถของหน่วยงานธุรการขององค์กรที่จัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญและหน่วยงานธุรการ ที่เป็นอิสระขององค์กรใด ๆ ที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ใครมีหน้าที่ต้องทำประกันภัยรถ / โทษการไม่ทำประกันภัย
1. ผู้มีหน้าที่ต้องทำประกันภัยรถ ได้แก่ เจ้าของรถผู้ครอบครองรถในฐานะผู้เช่าซื้อรถ และผู้นำรถที่จดทะเบียนในต่างประเทศเข้ามาใช้ในประเทศ
2. การฝ่าฝืนไม่จัดให้มีการทำประกันภัยรถ พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 กำหนดให้ระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท
ผู้ที่ได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.
1. ผู้ประสบภัย อันได้แก่ ประชาชนทุกคนที่ประสบภัยจากรถ ไม่ว่าจะเป็นผู้ขับขี่ ผู้โดยสารคนเดินเท้า หากได้รับความเสียหายแก่ชีวิต ร่างกาย อนามัย อันเนื่องมาจากอุบัติเหตุที่เกิดจากรถ ก็จะได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ. นี้
2. ทายาทของผู้ประสบภัยข้างต้น กรณีผู้ประสบภัยเสียชีวิต
ผู้มีหน้าที่รับประกันภัย/โทษของการไม่รับประกันภัย
ผู้มีหน้าที่ต้องรับประกันภัย คือ บริษัทประกันวินาศภัยที่รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจประกันภัยรถ ประชาชนสามารถทำประกันภัยรถ พ.ร.บ. ได้ที่บริษัทประกันภัยข้างต้นรวมถึงสาขาของบริษัทนั้น ๆ ทั่วประเทศ นอกจากนี้ ยังมีบริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด ที่รับประกันภัยเฉพาะรถจักรยานยนต์ มีสาขาให้บริการทั่วประเทศ
บริษัทใดฝ่าฝืนไม่รับประกันภัยรถตาม พ.ร.บ. คุ้มครอง ฯ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 50,000 บาท ถึง 25,000 บาท
อัตราเบี้ยประกันภัย พ.ร.บ.
กำหนดเป็นอัตราเบี้ยประกันภัยสูงสุด (ขั้นสูง) อัตราเดียว แยกตามประเภทรถ และลักษณะการใช้รถ บริษัทไม่สามารถคิดเบี้ยประกันภัยเกินกว่าที่กำหนดได้
1. ประเภทรถ เช่น รถจักรยานยนต์ รถยนต์นั่งไม่เกิน 7 ที่นั่ง ฯลฯ
2. ลักษณะการใช้รถ แบ่งเป็น 2 ลักษณะการใช้ คือ ส่วนบุคคล และรับจ้าง/ให้เช่า เช่น รถเก๋ง คือ ประเภทรถยนต์นั่งไม่เกิน 7 คน หากการใช้รถเป็นรถส่วนบุคคล เบี้ย ประกันภัย 800 บาท(ไม่รวมภาษีอากร) หากลักษณะการใช้รถเป็นรถรับจ้างหรือให้เช่า เบี้ยประกันภัย เป็น 1,900 บาท(ไม่รวมภาษีอากร)
ความคุ้มครองเบื้องต้นตาม พ.ร.บ.
ผู้ประสบภัย จะได้รับความคุ้มครองในความเสียหายที่เกิดขึ้น เป็นค่ารักษาพยาบาลกรณีบาดเจ็บ เป็นค่าปลงศพ ในกรณีเสียชีวิต โดยไม่ต้องรอพิสูจน์ความผิด บริษัทจะชดใช้ให้แก่ผู้ประสบภัย/ทายาทของผู้ประสบภัย ภายใน 7 วัน นับแต่บริษัทได้รับคำร้องขอ ค่าเสียหาย ดังกล่าว เรียกว่า “ ค่าเสียหายเบื้องต้น ” โดยมีจำนวนเงิน ดังนี้
1. กรณีบาดเจ็บ จะได้รับการชดใช้เป็นค่ารักษาพยาบาล และค่าใช้จ่ายอันจำเป็นเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท
2. กรณีเสียชีวิต จะได้รับการชดใช้เป็นค่าปลงศพ และค่าใช้จ่ายอันจำเป็นเกี่ยวกับการจัดการศพ จำนวน 35,000 บาท ( เฉพาะกรมธรรม์คุ้มครองตั้งแต่ 1 เมษายน 2546 เป็นต้นมา)
3. กรณีเสียชีวิตภายหลังการรักษาพยาบาล จะได้รับการชดใช้เป็นค่ารักษาพยาบาลตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท และค่าปลงศพ จำนวน 35,000 บาท ( เฉพาะกรมธรรม์คุ้มครองตั้งแต่ 1 เมษายน 2546 เป็นต้นมา) รวมแล้วจะได้รับค่าเสียหายเบื้องต้นไม่เกิน 50,000 บาท
ค่าเสียหายส่วนเกินกว่าค่าเสียหายเบื้องต้น
เป็นค่าเสียหายที่บริษัทจะชดใช้ให้ภายหลังจากที่มีการพิสูจน์ความรับผิดตามกฎหมายแล้ว โดยบริษัทที่รับประกันภัยรถที่เป็นฝ่ายผิด ต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ประสบภัย/ทายาทผู้ประสบภัย เมื่อรวมกับค่าเสียหายเบื้องต้นที่ผู้ประสบภัย/ทายาทได้รับแล้ว เป็นดังนี้
1. กรณีบาดเจ็บ เป็นค่ารักษาพยาบาล และค่าใช้จ่ายอันจำเป็นเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลตามความเป็นจริงไม่เกิน 50,000 บาท
2. กรณีเสียชีวิต หรือสูญเสียอวัยวะ หรือทุพพลภาพ จำนวน 100,000 บาท ( เฉพาะกรมธรรม์คุ้มครองตั้งแต่ 1 เมษายน 2546 เป็นต้นมา) ไม่ว่าจะมีการรักษาพยาบาลหรือไม่
รถ 2 คัน ชนกัน ผู้ประสบภัยเป็นผู้โดยสาร พ.ร.บ. คุ้มครองเท่าใด
1. กรณีรถตั้งแต่ 2 คัน ขึ้นไป ชนกัน ต่างฝ่ายต่างมีประกันตาม พ.ร.บ. และไม่มีผู้ใดยอมรับผิดในเหตุที่เกิด ผู้ประสบภัยที่เป็นผู้โดยสารจะได้รับความคุ้มครองตามหลักการสำรองจ่าย
2. กรณีบาดเจ็บ บริษัทจะสำรองจ่ายค่ารักษาพยาบาลตามใบเสร็จ จำนวนเงินไม่เกิน 50,000 บาทต่อคน แก่ผู้ประสบภัย
3. กรณีเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ หรือทุพพลภาพอย่างถาวร บริษัทจะสำรองจ่ายทดแทน/ค่าปลงศพ จำนวน 100,000 บาท ( เฉพาะกรมธรรม์คุ้มครองตั้งแต่ 1 เมษายน 2546 เป็นต้นมา) ต่อคน แก่ทายาทผู้ประสบภัย
ความคุ้มครองกรณีอุบัติเหตุที่ไม่มีคู่กรณี
1. กรณีผู้ประสบภัย ที่เป็นผู้ขับขี่และเป็นฝ่ายผิดเอง หรือไม่มีผู้ใดรับผิดตามกฎหมายต่อผู้ขับขี่ที่ประสบภัย ดังนี้ ผู้ประสบภัยที่เป็นผู้ขับขี่จะได้รับความคุ้มครองไม่เกินค่าเสียหายเบื้องต้น กล่าวคือ หากบาดเจ็บจะได้รับค่ารักษาพยาบาลไม่เกิน 15,000 บาท หรือเสียชีวิตจะได้รับค่าปลงศพ จำนวน 35,000 บาท หรือเสียชีวิตภายหลังรักษาพยาบาลจะรับค่าเสียหายเบื้องต้นไม่เกิน 50,000 บาท
2. กรณีผู้ประสบภัย ที่เป็นผู้โดยสาร/บุคคลภายนอกรถ จะได้รับการชดใช้ค่าเสียหายไม่เกิน 50,000 บาท กรณีบาดเจ็บ และ 100,000 บาท ( เฉพาะกรมธรรม์คุ้มครองตั้งแต่ 1 เมษายน 2546 เป็นต้นมา) กรณีเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ/ทุพพลภาพอย่างถาวร (ทั้งนี้ ผู้ขับขี่รถที่บริษัทรับประกันภัยไว้ต้องเป็นฝ่ายรับผิดตามกฎหมาย)